จาวา

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ blog ปัญญาพร เส้งทั่น

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ประเพณีและวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช


ประเพณีและวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช

1. ประเพณีสารทเดือนสิบ
ความเป็นมา
 
ประเพณีสารทเดือนสิบวิวัฒนาการมาจากประเพณีเปตพลีของพราหมณ์ ซึ่งลูกหลานจัดขึ้น เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาพวกพราหมณ์จำนวนมากได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาและยังถือปฏิบัติในประเพณีดังกล่าวอยู่ พระพุทธองค์เห็นว่า ประเพณีนี้มีคุณค่า เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษนำความสุขใจให้ผู้ปฏิบัติ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกาประกอบพิธีนี้ต่อไปได้ ประเพณีสารทเดือนสิบมีมาตั้งแต่พุทธกาลคาดว่า เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในนครศรีธรรมราชจึงรับประเพณีนี้มาด้วย

ระยะเวลาดำเนินการ

วันแรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ แต่ชาวนครศรีธรรมราช นิยมทำบุญคือ วันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ
สำหรับการจัดงานเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 9 ค่ำ เดือน 10 ถึง วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี รวม 10 วัน 10 คืน


สาระสำคัญ

๑.เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยรำลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
๒.เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกลได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุกดิบต่อกันและได้โอกาสทำบุญร่วมกัน
๓.เป็นการเก็บเสบียงอาหารมีทั้งพืชผักอาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปจัดนำไปถวายในรูปหมรับหรือสำรับ เพื่อที่ทางวัดจะได้เก็บรักษาไว้เป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน

 

 
2. ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ความเป็นมา
ในสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเป็นกษัตริย์ครองตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช) อยู่นั้น ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๑๗๗๓ ขณะที่เตรียมสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ชาวปากพนังมากราบทูลว่า คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบยาวผืนหนึ่งซึ่งมีภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติมาขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาดเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เรียกว่า “ผ้าพระบฏ” จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธจากหงสากลุ่มหนึ่ง จะนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกพายุพัดพามาขึ้นชายฝั่งปากพนัง เหลือผู้รอดชีวิตสิบคนพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงมีความเห็นว่าควรนำผ้าพระบฏไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ แม้จะไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ตั้งใจ แต่ก็เป็นพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเจ้าของผ้าพระบฏก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีขึ้นตั้งแต่ปีนั้นและดำเนินการสืบต่อมา จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

ระยะเวลาดำเนินการ
แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนิยมจัดปีละสองครั้ง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม (วันมาฆบูชา) และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก (วันวิสาขบูชา) โดยนำผ้าไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปัจจุบันนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม (วันมาฆบูชา) มากกว่า

สาระสำคัญ
๑. แสดงให้เห็นลักษณะสังคมของนครศรีธรรมราช ที่ยึดมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาการทำบุญเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเพื่อประสงค์ให้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า
๒. แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมความศรัทธา พุทธศาสนิกชนทั่วไปทุกทิศจึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน


 
3. ประเพณีลากพระ
ความเป็นมา
นสมัยที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นแล้ว พุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งสมมุติแทนองค์พระพุทธเจ้ามาแห่แหน ซึ่งเปรียบเสมือนการรับเสด็จและถวายภัตตาหารให้พระพุทธเจ้าด้วยตนเอง พระภิกษุจีนชื่ออี้จิง ได้จาริกแสวงบุญผ่านมายังอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้พบเห็นชาวบ้านปฏิบัติประเพณีลากพระจึงบันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า “พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง มีคนแห่แหนนำมาจากวัด โดยประดิษฐานบนรถหรือบนแคร่ มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่ห้อมล้อมมา มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่างๆ มีการถวายของหอมและดอกไม้และถือธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าว”

ระยะเวลาดำเนินการ

วันลากพระจะทำกันในวันออกพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด


สาระสำคัญ
๑.เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับสังคมเกษตรกรรม ด้วยความเชื่อว่าอานิสงฆ์แห่งการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การทำบุญเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่ง การลากพระแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรม
๒.เป็นการปฏิบัติตามความเชื่อว่า การทำบุญจะส่งผลให้ผู้ที่ทำได้รับบุญกุศลให้ประสบความสำเร็จในชีวิต จึงมีการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อตลอดมา
๓ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง ความสามัคคีพร้อมใจในการทำบุญทำทาน และเกิดความสนุกสนาน


4. ประเพณีอาบน้ำคนแก่
ความเป็นมา
อาบน้ำคนแก่เป็นประเพณีเกี่ยวเนื่องมาจากประเพณีสงกรานต์ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่าในวันที่ ๑๔ เมษายน เทวดาที่เฝ้ารักษาเมืองทั้งหลายจะพากันขึ้นไปเมืองสวรรค์กันหมด ทั้งเมืองจึงปราศจากเทวดา วันนี้จึงเรียกว่า “ วันว่าง “ คือเป็นวันที่ทุกสิ่งทุกอย่างว่างเทวดาคุ้มครอง ชาวบ้านจะหยุดทำกิจการงานทุกอย่างเก็บสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆหมด ครกและสากตำข้าวก็จะแช่เอาไว้สามวัน
ในวันว่าง ชาวบ้านจะนำภัตตาหารและเครื่องนมัสการต่าง ๆไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เสร็จแล้วจึงไปสักการะและสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ที่สนามหน้าเมือง และนิยมรองรับน้ำ
จากการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ เพื่อนำไปไว้ใช้ในงานมงคลที่บ้านของตนอีกด้วย
เมื่อสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์เสร็จแล้ว ชาวนครศรีธรรมราชจะนำอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไปให้ญาติคนแก่ที่ตนเคารพนับถือแล้วขออาบน้ำให้ท่านด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ระยะเวลาดำเนินการ

ประเพณีอาบน้ำคนแก่ อยู่ในช่วงระยะเวลาของวันที่ ๑๓ - ๑๕ เดือนห้า(เมษายน) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกเอาวันไหนก็ได้

สาระสำคัญ
๑.การอาบน้ำคนแก่เป็นประเพณีที่มีบทบาทในการควบคุมคนในสังคมให้วางตนให้เหมาะสมตามฐานะของตน
คือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อให้คนเคารพนับถือ เมื่อเป็นผู้น้อยก็ต้องแสดงความเคารพและมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ
๒.เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันได้แก่ คนแก่ในตระกูล บิดา มารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือทั้งหลาย
๓.เป็นการพบปะกันในระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งก่อให้เกิดความผูกพันกันใน
วงศาคณาญาติ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่กันในตระกูลยิ่งขึ้น
๔.สร้างความอบอุ่นปลาบปลื้มใจให้กับคนแก่ของตระกูล ที่ได้เห็นความเป็นปึกแผ่นของลูกหลาน
๕.ทำให้เกิดความสุขความอิ่มเอิบใจ ให้กับผู้ที่ได้ร่วมพิธีทำบุญตามประเพณีอาบน้ำคนแก่





5. ประเพณีสวดด้าน
ความเป็นมา
ในวันธรรมสวนะ พุทธศาสนิกชนจะมาทำบุญฟังธรรมกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ จึงมีชาวบ้านมาทำบุญกันมากเป็นพิเศษ สถานที่ที่จัดให้มีภิกษุสงฆ์มาเทศนา คือในวิหารคดหรือพระระเบียง ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “ ด้าน “ การเทศน์ของพระภิกษุสงฆ์จะมีด้านละหนึ่งธรรมาสน์เป็นอย่างน้อย
การไปฟังเทศน์ฟังธรรม ชาวบ้านจะต้องเตรียมตัวไปนั่งรอที่พระระเบียงก่อนที่พระสงฆ์จะไปถึง ในขณะที่นั่งรอ บางคนก็พูดคุยสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ บางคนก็มีเรื่องราวมาบอกเล่าสู่กันฟัง บางคนนั่งอยู่เฉย ๆทำให้น่าเบื่อ ในที่สุดจึงเกิดความคิดเห็นพ้องกันว่าควรหาหนังสือมาสวดจนกว่าพระจะมาเทศน์ เพื่อจะได้ฟังกัน ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้เป็นคติสอนใจ จึงเกิดประเพณีสวดด้านขึ้น

ระยะเวลาดำเนินการ

การสวดด้านจะมีเฉพาะในวันพระหรือในวันธรรมสวนะ(ขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ และขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ) เวลาก่อนเพล ก่อนพระสงฆ์จะขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเทศนาให้พุทธศานิกชนฟังที่ระเบียงทั้งสี่ด้านในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
 
สาระสำคัญ
 
๑.ผู้ฟัง ได้ฟังสาระจากการสวดหรือการอ่านหนังสือ ได้ทั้งความรู้คติสอนใจ และความเพลินเพลิด ส่วนผู้สวดได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือนับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดที่ช่วยให้คนรักการอ่านหนังสือและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการฟังแก่เด็กนักเรียนได้
๒.ได้ทราบข่าวความเป็นไปของบ้านเมือง เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ
๓.เกิดความรักความสามัคคีหมู่คณะที่ไปทำบุญวัดเดียวกันสร้างแบบอย่างให้แก่ลูกหลาน
๔.เป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมของชาวนครศรีธรรมราชในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งทางด้านภาษาและวรรณกรรมมาเป็นเวลายาวนานสมควรแก่การส่งเสริมให้มีการพัฒนาวรรณกรรมท้องถิ่นไว้เป็นมรดกของท้องถิ่นที่มีคุณค่ายิ่ง



6.  ประเพณีให้ทานไฟ
ความเป็นมา
นครศรีธรรมราชตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น ในหน้าหนาวก็ไม่หนาวจัด เพียงแต่คนรู้สึกว่าอากาศเย็นลงกว่าปกติ เนื่องจากไม่เคยชินกับอากาศที่หนาวเย็นลง ตอนย่ำรุ่งเช้ามืดจึงลุกขึ้นมาก่อไฟผิงเพื่อสร้างความอบอุ่น ประกอบกับชาวนครศรีธรรมราชยึดมั่นในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนจึงพากันก่อกองไฟในวัดใกล้บ้าน แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาผิงไฟรับความอบอุ่นด้วย
ระยะเวลาดำเนินการ
การให้ทานไฟไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตายตัวแล้วแต่ความสะดวกในการนัดหมาย แต่ส่วนใหญ่จะปฏิบัติในช่วงเดือนยี่ ซึ่งป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ชาวบ้านจะนัดหมายไปพร้อมกันในเวลาย่ำรุ่งหรือตอนเช้ามืด ซึ่งจะเป็นวันไหนก็ได้
สาระสำคัญ
๑..เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระรวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งเป็นการสร้างสามัคคีในหมู่คณะได้ดียิ่ง
๒.ทำให้มีสุขภาพดีมีพลานามัยแข็งแรง เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรูได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน
๓.เมื่อได้ปฏิบัติตามประเพณีแล้วย่อมทำให้เกิดความสุขใจเบิกบานใจในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังได้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานของตนด้วย




คำขวัญของนครศรีธรรมราช

 
 
เมืองประวัติศาสตร์


พระธาตุทองคำ

ชื่นฉ่ำธรรมชาติ

แร่ธาตุอุดม

เครื่องถมสามกษัตริย์

มากวัดมากศิลป์

ครบสิ้นกุ้งปู
 
 
 



ความหมาย
เมืองประวัติศาสตร์

หมายถึง นครศรีธรรมราชเป็นดินแดนที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์และพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นมาเป็นลำดับ ดังเห็นได้จากการขุดค้น ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งเครื่องมือหินและกลองมโหระทึก โบราณสถานบ้านโมคลานและเขาคาซึ่งปรากฏร่องรอยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ พบศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยอายุพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ที่มีข้อความบูชาพระศิวะ และจากศิลาจารึกวัดเสมาเมืองพ.ศ.๑๓๑๘แสดงให้เห็นว่านครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ ภายใต้การปกครองของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช นครศรีธรรมราชเจริญสูงสุดมีอำนาจปกครองครอบคลุมหัวเมืองรายรอบถึงสิบสองเมืองเรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตรนครศรีธรรมราช จึงเป็นรัฐใหญ่ศูนย์กลางการปกครองและศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา


พระธาตุทองคำ
หมายถึง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีขนาดใหญ่ และสูงสง่ายิ่ง ส่วนปลียอดของพระบรมธาตุ มีแผ่นทองคำปิดประดับตกแต่ง มีน้ำหนักถึง ๘๐๐ ชั่ง เย็บร้อยรัดไว้ด้วยเส้นด้ายทองคำประดับอัญมณีมีค่านานาชนิด กลีบบัวคว่ำบัวหงายที่รองรับปลียอดทองคำยังหุ้มไว้ด้วยแผ่นทองคำล้ำค่า "ปลียอดทองคำ" ส่วนบนสุดจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์งามสง่ายิ่งขึ้น


ชื่นฉ่ำธรรมชาติ
หมายถึง นครศรีธรรมราชมีทั้งลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และชายฝั่งทะเล จึงมีธรรมชาติที่สวยงามให้ชื่นชม ในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ป่าไม้ยังคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำมีน้ำตกอันงดงาม เช่น น้ำตกกรุงชิง น้ำตกในเขียว น้ำตกสี่ขีด มีถ้ำเขาวังทองที่มีก้อนหินลูกน้อยหน่า ชื่นชมธรรมชาติตลอดแนวชายทะเลมีทั้งหาดทรายขาว ป่าโกงกาง เกาะ อ่าว แหลม และแก่งหิน มีชายหาดที่สวยงาม เช่น หาดหินงาม และหาดในเพลา


แร่ธาตุอุดม

หมายถึง นครศรีธรรมราชอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ มีทั้งยิปชั่มซึ่งเป็นแร่ที่มีมูลค่ามากที่สุดในนครศรีธรรมราช พบมากในอำเภอทุ่งใหญ่และฉวาง แหล่งแร่ดีบุกพบในหลายอำเภอใช้ประโยชน์ในการทำภาชนะบรรจุอาหาร สีทาบ้าน ทำแก้วเนื้อทึบ แร่วุลแฟรมพบบริเวณเดียวกับแร่ดีบุก ใช้ทำไส้หลอดไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีแร่อื่น ๆ อีก เช่นพลวงแบไรท์ดินขาวเหล็ก บอลเคลย์


เครื่องถมสามกษัตริย์

เครื่องถม หมายถึง เครื่องถมของนครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเครื่องราชูปโภคทั้งหลายล้วนแต่เป็นเครื่องถมจากนครศรีธรรมราช ถมนครมีทั้งถมเงินและถมทอง
ประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขันน้ำพานรอง กรอบรูป ถาด ตลับแป้ง ตลับบุหรี่ กระเป๋าถือสตรี เข็มกลัดกำไล และอื่น ๆ สามกษัตริย์ หมายถึง สายสร้อยสามกษัตริย์ ประกอบด้วยทอง นาค และเงิน จัดเป็นเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของนครศรีธรรมราช


มากวัดมากศิลป์

มากวัด หมายถึง นครศรีธรรมราชมีวัดมากกว่า ๖๐๐ วัด มากศิลป์หมายถึงศิลปหัตถกรรมของนครศรีธรรมราชมีมากกว่าจังหวัดอื่นในภาคใต้ มีทั้งแกะสลักไม้ แกะหนัง จักสานย่านลิเพา สานพัดใบพ้อ สานเสื่อกระจูด ทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องถมเงินและถมทองและเครื่องประดับเงิน


ครบสิ้นกุ้งปู

หมายถึง นครศรีธรรมราชอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อาหารการกินของนครศรีธรรมราชจึงมีทุกฤดูกาล มีทั้งทำนาข้าว สวนผลไม้ อาหารทะเลสดทุกชนิด




















 

ประวัติจังหวัดนครศรีธรรมราช



ประวัติจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
 เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ตำแหน่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่างอยู่ หลวงสิทธนายเวรมหาดเล็ก (หนู) ซึ่งออกไปรับราชการตำแหน่งปลัดเมืองเป็นผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ไม่มีเจ้านายปกครองประเทศ หลวงสิทธิจึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอิสระอยู่ก๊กหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรียาตรากองทัพไปปราบจับตัวเจ้านคร (หนู) ได้ และมีพระราชดำริว่า เจ้านครมิได้มีใจกบฏคิดร้ายต่อประเทศ แต่ตั้งตัวขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอ ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริว่า เจ้านคร (หนู) ได้เข้ามารับราชการมีความจงรักภักดี และได้ถวายธิดาทำราชการ มีราชบุตร (คือพระพงษ์นรินทรและพระอินทร์อภัย) เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันธสีมา (หนู) เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1138 (
พ.ศ. 2319) ปีวอกอัฐศก ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า พระเจ้านครศรีธรรมราช มีความชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงโปรดให้ออกจากตำแหน่ง กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และโปรดให้เจ้าอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยเจ้านคร ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงศก แต่โปรดให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีแต่เดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่เคยมีกษัตริย์ปกครอง และมีฐานะเป็นประเทศราช 8 ปี


แต่มีเรื่องปรากฏหลักฐานในสมัยนั้นว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ที่จริงเป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งเจ้านคร (หนู) ทำราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในแก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และมีน้องสาว (ปราง) มาอยู่ด้วยในวังคนหนึ่ง ความปรากฏตามพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกให้ไปขอ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาบังอาจจะเป็นคู่เขยของพระองค์ ให้เอาไปประหารเสีย ต่อมาวงศ์ญาติเจ้านคร จึงนำธิดา(ปราง)คนนี้ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี เสีย ต่อมาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อครั้งยังเป็นอุปราชเมืองนครอยู่ ภริยาซึ่งเป็นบุตรเจ้านคร (หนู) เสียชีวิต เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทำความชอบได้เข้าเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าภริยาเสียชีวิต ก็สงสารจึงจะพระราชทานธิดาเจ้านคร (หนู) ให้ใหม่ และให้นำตัวธิดาคนเล็กเจ้านคร (หนู) ไปพระราชทาน แต่นางในกระซิบว่า ดูเหมือนว่านางจะขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธน ตรัสว่า "ได้ออกปากให้เขาแล้ว ก็พาไปเถอะ" เมื่อท้าวนาง พาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมีก็ต้องรับไว้เป็นท่านผู้หญิงกิตติมศักดิ์ อยู่ตลอดอายุ และนางนั้นก็มีบุตรกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เพียงคนเดียว คือ เจ้าพระยานคร (ปริก)

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ประวัติผู้จัดทำ

ประวัติผู้จัดทำ
 
 
นางสาว ปัญญาพร เส้งทั่น
 
ชื่อเล่น เตย
 
ม.3/7 เลขที่ 36
 
เกิดวันที่ 07 มกราคม พ.ศ 2540
 
โรงเรียน ชะอวด
 
จังหวัด นครศรีธรรมราช
 
 
 
 
 
 
นางสาว ชญานี รอดเรืองฤทธิ์
 
ชื่อเล่น ปุ้ย
 
ม.3/7 เลขที่ 34
 
เกิดวันที่ 25 เมษายน พ.ศ 2540
 
โรงเรียน ชะอวด
 
จังหวัด นครศรีธรรมราช